Ponpitcha Chanthanawan
2 min readSep 8, 2020

ทำไม To Kill A Mocking Bird เป็นวรรณกรรมดังทั่วโลก แต่กลับไม่ดังในไทย

วรรณกรรมสุดคลาสสิกตลอดกาลสำหรับเด็กวัยรุ่นในซีกโลกตะวันตกคงหนีไม่พ้น To Kill A Mocking Bird ประพันธ์โดย Harper Lee เรื่องราวเล่าถึงชีวิตของ Atticus Finch ทนายผิวสี ที่พยายามจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของ Tom Robinson ชายผิวสีที่ถูกกล่าวหาในคดีล่วงละเมิดทางเพศหญิงผิวขาวใน Alabama ปี 1930

ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1960 และ ปัจจุบันมีการตีพิมพ์ไปแล้วกว่า 30 ล้านเล่ม แปลกว่า 40 ภาษา และ ได้รับรางวัล Pulitzer Prize ในปี 1961 ต่อมาถูกนำมาฉายเป็นภาพยนตร์ และ ได้รับรางวัล Academy Awards นับได้ว่า To Kill A Mocking Bird เป็นวรรณกรรมที่สมควรได้รับการขนานนามว่าเป็นสมบัติของโลกก็เป็นได้

“Mockingbirds don’t do one thing except make music for us to enjoy. They don’t eat up people’s gardens, don’t nest in corn cribs, they don’t do one thing but sing their hearts out for us. That’s why it’s a sin to kill a mockingbird.”

ข้อความสำคัญจากวรรณกรรม ได้เปรียบนกม็อกกิ้งไว้กับความบริสุทธ์ และ การเป็นผู้ถูกกระทำ สิ่งเดียวที่นกม็อกกิ้งทำคือเพียงขับร้องเพลงให้ความสำราญแก่ผู้คนรอบข้าง มันไม่แม้แต่จะเข้าไปกัดกินพืชพรรณในสวนสวยของพวกเธอ และ ไม่เข้าไปทำรังในโพรงข้าวโพด เจ้านกเหล่านี้เพียงขับกล่อมเสียงเพลงจรรโลงจิตใจเท่านั้น เมื่อผู้ใดพรากเอาชีวิตเจ้านกม็อกกิ้งไปถือได้ว่าเป็นบาปอันใหญ่นัก

เพราะคำสอนจากหนังสือให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเข้าใจธรรมชาติมนุษย์ และ การอยู่ร่วมกันในสังคม ด้วยเหตุนี้ To Kill A Mocking Bird จึงถูกนำมาพูดถึงในห้องเรียนที่อเมริกา เพื่อสอนให้เด็ก ๆ เข้าใจว่าการเป็นประชาชนที่ดีในสังคมประชาธิปไตยนั้นควรทำอย่างไร

เมื่อเราเริ่มสังเกตว่าวรรณกรรมฉบับนี้ได้รับการขนานนามเป็นอย่างมากในต่างประเทศ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ทำไมวรรณกรรมชั้นดีระดับโลกชิ้นนี้ถึงตกหล่นในช่วงวัยรุ่นของเรา มิหนำซ้ำยังไม่เคยถูกนำมาพูดถึงในโรงเรียนไทยกันหน่อยเลย

วรรณกรรมสำหรับเยาวชนไทยที่ถูกรัฐบังคับให้ “สูญหาย”

สาเหตุส่วนหนึ่งที่วรรณกรรมประเภทที่เขียนเพื่อมวลชน อย่างผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ ไม่เคยถูกสอนในโรงเรียนไทย อาจเป็นเพราะมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับการวิจารณ์สถาบันหลักของชาติ และ เล่าประวัติศาสตร์ไทยในมุมมองที่แตกต่างไปจากที่ชนชั้นผู้ปกครองมอง

น่าเสียดายที่ผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง หนำซ้ำยังถูกลอบสังหารอย่างเลือดเย็นในตำบลคำบ่อ การตายของบัณฑิตคณะอักษรศาสตร์ จากรั้วจามจุรี จบลงด้วยกระสุนของอาสาสมัครรักษาดินแดนและกำนันแหลม หรือ คำพน อำพล ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2509 ณ บ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร และ เป็นเวลากว่า 20 ปี ที่จิตร ภูมิศักดิ์ ผู้ร้ายที่ถูกมองเป็นคอมมิวนิสต์ จะกลายมาเป็นบุคคลสำคัญของท้องถิ่นตำบลคำบ่อ

บทเพลงจิตร ภูมิศักดิ์ แต่งโดย สุรชัย จันทิมาธร ได้อุปมาเหตุการณ์เสียชีวิตของจิตรไว้ว่า

เขาตายในชายป่าเลือดทาดินเข็ญ ยากเย็นข้นแค้นอับจน

ถึงวันพรากเขาลงมาจากยอดเขา ใต้เงามหานกอินทรี

ล้อมยิงโดยกระหยิ่ม อิ่มในเหยื่อตัวนี้

โชคดีสี่ขั้นพันดาวเหมือนดาวร่วงหล่น

ความเป็นคนล่วงหาย ก่อนตายหมายสิ่งใด

ชีวิตของ จิตร และ หนังสือ “โฉมหน้าศักดินาไทย” ต้องเผชิญกับอุปสรรคทางการเมืองอยู่มาก เนื่องจากในสมัยนั้นเป็นยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้ายึดอำนาจรัฐบาลเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 จิตรถูกจับด้วยข้อหาเป็นพวกคิดเห็นฝ่ายซ้าย เขาและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ถูกขังนานกว่า 5 ปี ภายหลังเมื่อถูกปล่อยตัวได้ไม่นานก็ถูกฆ่าตายอย่างเลือดเย็นด้วยฝีมือนักการเมืองท้องถิ่น

บรรยากาศบ้านเมืองในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ พ.ศ. 2490 มีการกวาดล้างเหล่านักคิดฝ่ายซ้ายเป็นจำนวนมาก ประชาชนถูกตัดออกจากโลกภายนอก ให้มีชีวิตอยู่กับตัวเองและปัจจุบัน ขณะมอบหน้าที่ปกครองบ้านเมืองเป็นของผู้นำแต่เพียงผู้เดียว จากยุคที่มหาวิทยาลัยมีแต่นักคิด ฝักไฝ่เรื่องการเมือง ถูกเปลี่ยนให้เป็นยุคแห่งผู้นำ

เป็นไปได้ว่ายุคสมัยของบ้านเมืองมีอิทธิพลต่อรสนิยมของประชาชนส่วนใหญ่กันอยู่มาก ที่สังเกตได้จากสภาพบ้านเมืองสมัยจอมพลสฤษดิ์ ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นระเบียบเรียบร้อย และ ชาตินิยม จึงทำให้กระแสความคิดฝ่ายประชาธิปไตยต้องสูญหายไป แต่ที่น่าสนใจคือเมื่อกาลเวลาหมุนเปลี่ยนไปแล้ว ระบบการศึกษาของไทย ยังเหมือนกับถูกแช่แข็งกาลเวลาให้คงอยู่ในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ดังเดิม

ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนภาษาไทย หรือ การสอนประวัติศาสตร์ ยังคงให้ความสำคัญกับความเป็น “ชาติ” อยู่ไม่เสื่อมคลาย จึงมีความเป็นไปได้ว่า To Kill A Mockingbird ที่สอดแทรกเนื้อหาแบบ “ฝ่ายซ้าย” จึงไม่สามารถแทรกเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาของไทยได้

การสอนสัญญาประชาคมผ่านห้องเรียนภาษาอังกฤษในเมืองอลาสก้า สหรัฐอเมริกา

ปัจจุบันในอเมริกายังคงมีปัญหาเรื่องการเหยียดสีผิว จากกรณี #Blacklivesmatter ก็ยังสะท้อนปัญหาในสถาบันหลักอย่างโรงเรียนและครอบครัว ไม่ได้มีการปลูกฝังให้เข้าใจความเคารพมนุษย์อย่างถ่องแท้ สืบยาวไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่รัฐยังเลือกปฏิบัติกับคนผิวสีแตกต่างจากคนผิวขาว

กระแสการสอดแทรกความเข้าใจเกี่ยวกับความยุติธรรมในสังคมเริ่มกลับมาอีกครั้งเมื่อครูประจำวิชาภาษาอังกฤษท่านหนึ่งในเมืองอลาสก้าเลือกที่จะนำเอาวรรณกรรมอย่าง To Kill A Mocking Bird กลับมาสอนเด็ก ๆ ในชั้นเรียนมัธยมต้น เธอกล่าวว่า การใช้วรรณกรรมมาสอนเด็ก ๆ เป็นเรื่องท้าทาย เนื่องจากสิ่งที่เธออยากจะถ่ายทอดคือการส่งเสริมให้เด็กมีความตระหนักรู้ถึงปัญหาสังคม และ เป็นคนที่กล้าแสดงความแตกต่างในชุมชน และ ในโรงเรียน

เธอเลือกที่จะนำเนื้อหาในแต่ละบทจากวรรณกรรม มาเปิดประเด็นให้เด็ก ๆ ถกเถียงกันในเรื่องความเป็นธรรมในสังคม และ ปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อชนชาติ เธอสรุปให้ฟังว่า ในแต่ละปี มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่หันมาสนใจวรรณกรรมของ Harper Lee ซึ่งเด็ก ๆ เชื่อว่าปัญหาการเหยียดสีผิวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต และ เชื่อว่าไม่ควรเป็นปัญหาที่ต้องเกิดขึ้นในปัจจุบัน

เธอคิดค้นเกมส์ไพ่ที่สอนให้เด็กเรียนรู้ความแตกต่างด้านวัฒนธรรมขึ้น โดยสอนให้เด็กแต่ละคนทำความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อชาติของตนเองก่อน แล้วหลังจากนั้นให้เด็ก ๆ เขียนอาหาร ชุด และ กิจกรรมประจำชาติ ของเขาลงในกระดาษ และ ให้รวบรวมสิ่งเหล่านี้มาเป็นคำ 6 คำ เพื่อความกระชับในการถ่ายทอดความทรงจำที่งดงามให้กับเพื่อน ๆ ในชั้นเรียน ปลายทางของเกมส์นี้เกิดขึ้นเพื่อลดปัญหาการใช้ N-Word (คำด่าที่ใช้เหยียดคนผิวสี) เนื่องจากเธอเชื่อว่าการให้ความเข้าใจด้านสังคม และ การเปิดโอกาสให้เด็กได้รับฟังซึ่งกันและกัน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็ก ๆ สามารถเข้าใจถึงรากฐานของภาษาอังกฤษได้เช่นกัน

อีกหนึ่งกิจกรรมที่เธอนำเสนอคือการพูดถึงเรื่องความแตกต่างทางสรีระร่างกาย และ ความคิดเห็น เธอนำตัวละครทั้งหมดจาก To Kill A Mocking Bird มาให้เด็ก ๆ วาดภาพนำเสนอ และ อธิบายความแตกต่างของลักษณะของแต่ละตัวละคร

Scout Finch เด็กทอมบอยแสนฉลาด ศรัทธาในตัวผู้คนในชุมชนที่เธออาศัยอยู่ เธอต้องต่อสู้กับกับความเกลียดชัง และ อคติที่ถาโถมเข้ามาระหว่างการพิจารณาคดีของ Tom Robinson ชายผิวสีที่ถูกกล่าวหาว่าข่มขืนหญิงผิวขาว เธอเรียนรู้ที่จะถ่ายทอดมุมมองการชื่นชมความดีงามของมนุษย์โดยไม่ละเลยความชั่วร้ายของมนุษย์เหล่านั้น

Atticus Finch บิดาของ Scout และ Jem เป็นทนายที่ออกมาปกป้องสิทธิของโรบินสัน เขาปลูกฝังให้ลูก ๆ เข้าใจถึงความดีงาม และ ความยุติธรรม เขาเชื่อในความเท่าเทียมเรื่องสีผิว ว่าบุคคลไม่สมควรถูกแบ่งแยกเพราะมีสีผิวแตกต่างกัน แม้การกระทำดังกล่าวจะสร้างความเกลียดชังแก่ครอบครัวคนขาว เขาไม่เคยหยุดยั้งอุดมการณ์ที่มี และ ยืนหยัดที่จะต่อสู้เพื่อชาวผิวสีต่อไป

Jem Finch บุตรชายอีกคนของ Atticus มีความฝันอยากเป็นนักฟุตบอล แต่แล้วความฝันของเขาก็ถูกท้าทายด้วยความชั่วร้าย และ ความอยุติธรรมจากคดีข่มขืนของโรบินสัน

Aurthur “Boo” Radley เด็กที่ไม่เคยออกจากบ้าน เนื่องจากเข้าเคยถูกพ่อทำร้ายจิตใจอย่างหนัก และ เป็นตัวละครที่เป็นสัญลักษณ์ของ mockingbird ที่ถูกความชั่วร้ายเข้ามาทำลายความไร้เดียงสา และ ความดีงามของมนุษย์หนึ่งคน

Tom Robinson ชายผู้ถูกกล่าวหาว่าข่มขืนหญิงผิวขาว และ ถือว่าเป็น mockingbird อีกหนึ่งคนของเรื่อง เป็นบุคคลเดียงสา ที่ถูกความใจร้ายของเพื่อนมนุษย์ทำลายชีวิต

วิชาสัญญาประชาคม ผ่านการศึกษาแบบ Distance Learning

อาจารย์ผิวสีท่านหนึ่งประจำโรงเรียนมัธยมต้นในอเมริกา ได้คิดค้นวิชาสัญญาประชาคมขึ้น เพื่อสอนให้เด็กเข้าใจถึงสิทธิมนุษยชน และ ความยุติธรรม เธอเน้นการให้ความสำคัญเรื่องการรับฟังความเห็นของเด็กๆ ในห้องเรียน และ เธอจะสอดแทรกข้อคิดจากเหตุการณ์ต่างๆ เพื่ออธิบายให้เด็กเข้าใจปัญหาในสังคมได้อย่างชัดเจนขึ้น

เธอตั้งโจทย์ให้กับเด็ก ๆ ว่าให้ทุกคนเลือกสิ่งที่เขาสนใจมานำเสนอในชั้นเรียนคนละ 1 หัวข้อ เป็นเรื่องอะไรก็ได้ กฎก็คือ เด็ก ๆ จะต้องนำเสนอปัญหาโดยการมีการเกริ่นนำ ระบุข้อโต้แย้ง และ การอ้างอิงสู่มุมมองต่าง ๆ และ สามารถสรุปประเด็นได้อย่างรวบรัด นอกจากนี้เธอได้แทรกความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาเชิงโครงสร้างเข้าไปในการนำเสนอด้วย ซึ่งเธอเลือกที่จะพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับปัจจุบันเกี่ยวกับปัญหาเรื่องผู้หญิงผิวสี เธอถ่ายทอดโดยการเปิดคลิปวิดีโอ อ่านบทความ และ เชิญคนมาเล่าเกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในอเมริกา

เธอเล่าให้ฟังว่า ความน่าสนใจของคลาสนี้คือ การที่เธอได้เห็นเด็ก ๆ หยิบยกเอาปัญหาที่น่าสนใจหลายด้านมานำเสนอให้ห้องเรียน เช่น สิทธิในการทำแท้ง ปัญหาเรื่องมลภาวะ หรือ แม้แต่เรื่องการรับวัคซีนโควิด นอกจากนี้เธอแสดงความเห็นอีกว่า เด็กรุ่นใหม่มีความเปิดกว้างที่จะรับฟัง และ พร้อมแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม พวกเขาล้วนแล้วมีความกล้าที่จะแสดงออก ในการต่อสู้เรื่องสิทธิต่าง ๆ เพื่อพัฒาชาติของตนต่อไป พวกเขาล้วนแล้วเป็นผู้นำทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคนที่แสดงออกมากหรือน้อย พวกเขาล้วนแล้วมีความพร้อมกันทั้งหมด

อ้างอิงจาก

http://academic.obec.go.th/images/document/1517562736_d_1.pdf

http://academic.obec.go.th/document.php?ispage=17

https://drive.google.com/file/d/1mKyU6tkVWlL5b6vfwHNEzqkcqVXf_H-m/view

https://www.edutopia.org/article/using-social-justice-promote-student-voice?fbclid=IwAR08FpbA9XkWvROTYHw2VJKTL8m72EBoIi1gH5JaJer2dFSxP6YysQtUlIY

https://www.edutopia.org/article/social-justice-framing-classics

https://isaanrecord.com/2016/05/05/50-%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A3-%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4/

https://www.kroobannok.com/news_file/p49384580948.pdf

https://www.sm-thaipublishing.com/content/7841/royal-nationalist-contents

https://www.silpa-mag.com/history/article_46171

https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_8702

https://thematter.co/entertainment/chit-phumisak-and-his-arts/23439

Ponpitcha Chanthanawan
Ponpitcha Chanthanawan

Written by Ponpitcha Chanthanawan

0 Followers

Writer based in Bangkok, Thailand focusing in Politics, Legal and Social issues

No responses yet